ธนวันต์ สินธุนาวา
อาคารที่ถูกออกแบบและก่อสร้างโดยไม่ได้มุ่งใช้ประโยชน์จากปัจจัยทางธรรมชาติที่จะเอื้อต่อการดำรงชีวิต และใช้ประโยชน์อาคารของผู้อยู่อาศัยจะสามารถตอบสนองความต้องการใช้ประโยชน์อาคารได้อย่างจำกัด ผู้อยู่อาศัยจำเป็นต้องปรับปรุงและดัดแปลงอาคาร และส่วนประกอบของอาคารจึงจะสามารถใช้ประโยชน์อาคารได้เพิ่มมากขึ้น และการดัดแปลงปรับปรุงดังกล่าวก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและพลังงานเพิ่มมากขึ้น ดังเช่นอาคารที่อยู่อาศัยที่มีผนังทึบ หรือมีช่องแสงไม่เพียงพอ เนื่องจากเหตุผลความปลอดภัย ความสวยงาม และการลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง เป็นเหตุให้ผู้อยู่อาศัยต้องติดตั้งอุปกรณ์แสงสว่างและใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น สำหรับอาคารที่ออกแบบและก่อสร้างให้มีช่องแสงเพียงพอ แต่ผู้ใช้อาคารได้ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ภาพ วัสดุตกแต่งหรือผ้าม่าน จนทำให้แสงสว่างจากภายนอกไม่สามารถเข้ามาทางช่องแสงดังกล่าวได้ และเมื่อมีการใช้อาคารก็จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์แสงสว่างเพิ่มขึ้นเป็นเหตุให้มีการใช้พลังงานมากขึ้น นอกจากนี้อาคารที่ตกแต่งและทาสีภายในอาคารด้วยสีเข้มหรือสีทึบจะทำให้ต้องติดตั้งอุปกรณ์แสงสว่างมากกว่าปกติ จึงจะทำให้มีการมองเห็นวัสดุสิ่งของได้อย่างชัดเจน หรือกรณีที่มีการบดบังช่องแสงจากภายนอกอาคาร ด้วยส่วนของอาคารที่มีการดัดแปลงต่อเติม หรือการเติบโตของพันธุ์ไม้จนเป็นเหตุให้มีแสงสว่างภายในอาคารลดน้อยลง ผู้ใช้อาคารจึงต้องติดตั้งอุปกรณ์แสงสว่างและใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น
การสูญเสียพลังงานจากการใช้แสงสว่างภายในอาคารยังเกิดจากการติดตั้งอุปกรณ์แสงสว่างไม่เหมาะสม เช่น มากเกินไป น้อยเกินไป ถี่เกินไป ห่างเกินไป รวมทั้งการติดตั้งสวิทซ์ควบคุมอุปกรณ์แสงสว่างอย่างไม่เหมาะสม เช่น ติดตั้งสวิทซ์ควบคุมน้อยเกินไป หรือใช้สวิทซ์เพียงจุดเดียวควบคุมอุปกรณ์แสงสว่างหลายแห่ง ดังนั้นเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้แสงสว่างเพียงจุดเดียวจะไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องเปิดสวิทซ์ที่ทำให้มีการให้แสงสว่างมากเกินความต้องการ
จากปัญหาดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ใช้อาคารต้องใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น ซึ่งการใช้พลังงานมากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากทั้งในระยะสั้น ได้แก่ มลพิษทางอากาศ การเสียสมดุลของระบบนิเวศ การปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และการเกิดขยะมูลฝอย และในระยะยาว ได้แก่ การเกิดภาวะเรือนกระจก และการลดลงหรือหมดไปของทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด
แนวทางแก้ไข
- ควรมีการศึกษาวิจัยการออกแบบอาคารที่สามารถใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง
- ควรมีการศึกษาวิจัยลักษณะการติดตั้งอุปกรณ์แสงสว่างภายในอาคารที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
- ควรมีการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในการออกแบบ ก่อสร้างอาคาร การออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์แสงสว่าง การดูแลและรักษาพุ่มทรงของพรรณไม้ภายนอกอาคาร รวมทั้งการเลือกชนิดและพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม
- ควรมีการบรรจุเนื้อหาด้านการออกแบบ ติดตั้งและใช้อุปกรณ์แสงสว่างภายในอาคารอย่างกว้างขวางในทุกระดับการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
- ควรมีการเผยแพร่ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ของแสงสว่างกับการมองเห็น และการใช้สายตาอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดทิศทาง ความเข้มและชนิดของแสงสว่างที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้อาคารในกิจกรรมต่าง ๆ
บทบาทของผู้บริโภคในการป้องกันและลดการสูญเสียพลังงาน
- เลือกออกแบบอาคารให้สามารถรับแสงสว่างจากภายนอกอาคารได้อย่างเพียงพอ และเหมาะสม
- เลือกใช้วัสดุก่อสร้างและวัสดุประกอบอาคารที่ช่วยให้แสงสว่างภายนอกเข้ามาภายในอาคารได้ เช่น หลังคาโปร่งแสง ผนังโปร่งแสง
- ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ที่จะช่วยให้การใช้แสงสว่างภายในอาคารมีประสิทธิภาพ
- ออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์แสงสว่างอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของอาคาร
- เลือกติดตั้งและใช้วัสดุประกอบอาคาร และวัสดุตกแต่งที่ช่วยให้การใช้พลังงานแสงสว่างมีประสิทธิภาพ
- เลือกปลูกพรรณไม้ที่มีรูปทรง และขนาดที่เหมาะสมภายนอกอาคารที่ไม่เป็นอุปสรรคในการถ่ายเทอากาศและแสงสว่างระหว่างภายในและภายนอกอาคาร
อ้างอิงรูปภาพจาก : www.pexels.com