ดร.ธนวันต์ สินธุนาวา
การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกกับภาวะโลกร้อน
ในช่วงเวลา 250 ปีที่ผ่านมามนุษย์ได้มีการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกหลายชนิดขึ้นสู่บรรยากาศในอัตราที่สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยในปี ค .ศ. 2004 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 8 พันล้านตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยนี้ ส่วนหนึ่งถูกดูดซับไว้ตามธรรมชาติโดยป่าไม้และทะเล ในขณะที่ส่วนที่เหลือจะสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้เรายังปล่อยก๊าซมีเทนหรือ ก๊าซชีวภาพหลายล้านกิโลกรัมจากการย่อยสลายมูลฝอยในที่ฝังกลบและจากการเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจหลายชนิด การใช้ปุ๋ยที่มีสารประกอบไนโตรเจน และการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้นำไปสู่การปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อก๊าซเรือนกระจกลอยขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศ จะคงสภาพอยู่ในชั้นบรรยากาศหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปี คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC)ระบุว่านับแต่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี 1750 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 และปริมาณ ก๊าซมีเทนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 จากการศึกษาภาวะอากาศในชั้นน้ำแข็ง และซากดึกดำบรรพ์ พบว่าก๊าซเรือนกระจกทั้งสองชนิดนี้ มีปริมาณมากที่สุดในรอบ 650,000 ปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้น ได้ทำให้การแผ่รังสีความร้อนจากผิวโลกออกไปนอกชั้นบรรยากาศเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นเป็นผลให้โลกร้อนขึ้น โดยหลักฐานที่ยืนยันว่าโลกร้อนขึ้น จริง ๆ มี ดังนี้
- ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาอุณหภูมิผิวโลกได้สูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยในรอบ 1,300 ปี (ระหว่างปี ค .ศ .1906 ถึงปี 2006) อุณหภูมิเฉลี่ยที่ผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น 0.6-0.9 องศาเซลเซียส และอัตราการเพิ่มของอุณหภูมิในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมาสูงถึงสองเท่า
- ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาระดับน้ำทะเลทั่วโลกได้สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 17 เซนติเมตร
- นับตั้งแต่ปี ค .ศ .1978 เป็นต้นมา ธารน้ำแข็งทั่วโลกและน้ำแข็งในทะเลที่ขั้วโลกเหนือหดตัวลงอย่างต่อเนื่องร้อยละ 2.7 ในทุกรอบสิบปี
การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นตามไปด้วยบนพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ IPCC คาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยที่ผิวโลกจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 2 และ 6 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษที่ 21 นี้ (ปี ค .ศ.2100)
ปรากฏการณ์ 10 ประการ จากภาวะโลกร้อน
1. คลื่นความร้อน (Heat wave)
คลื่นความร้อนที่มีระยะเวลายาวนานมากขึ้นและมีความร้อนสูงจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น ฤดูร้อนที่ร้อนขึ้นมากและความถี่ที่สูงขึ้นของการเกิดไฟไหม้จะนำไปสู่การเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจากการช๊อค (heat shock)
2. น้ำทะเลที่สูงขึ้นและการกัดเซาะชายฝั่ง
ภาวะโลกร้อนไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อเพียงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังกัดเซาะชายฝั่ง และเป็นต้นเหตุให้เกิดน้ำท่วมตามชายฝั่ง ปัญหานี้มีความรุนแรงมากเนื่องจากประชากรโลกมาถึงร้อยละ 10 พักอาศัยบนพื้นที่ชายฝั่งที่มีความสูงกว่าน้ำทะเลไม่ถึง 10 เมตร โดย IPCC คาดว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 18 ถึง 59 เซนติเมตรในปี 2099 เนื่องจากการขยายตัวของน้ำทะเลจากความร้อนและการละลายของธารน้ำแข็งบนภูเขาสูง
3. การละลายของธารน้ำแข็ง
อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้พบการละลายตัวของธารน้ำแข็ง (Glacier) การละลายอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งบนภูเขาล้วนจะนำไปสู่การเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ในระยะยาวน้ำจืดจะขาดแคลนในฤดูร้อน เมื่อธารน้ำแข็งละลายหมดไป โดยเฉพาะในเอเชียและอเมริกาเหนือ
4. การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก
เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นแข็งจะละลายเร็วยิ่งขึ้น การติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งโดยดาวเทียม เปิดเผยว่าภูเขาน้ำแข็งฝั่งตะวันตกของแอนต๊ากติกและกรีนแลนด์ละลายแยกตัวออกไปปีละ 125 พันล้านตัน ปริมาณน้ำจากการละลายน้ำแข็ง นี้จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นปีละ 0.35 มิลลิเมตร ถ้าการละลายของน้ำแข็งเป็นไปด้วยอัตราเร่ง ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเร็วกว่านี้มาก เมื่อครั้งล่าสุดที่อุณหภูมิของโลกสูงกว่าอุณหภูมิทุกวันนี้เพียง 1 หรือ 2 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 6 เมตร โดยที่น้ำที่สูงขึ้นนี้มาจากการละลายของน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ และฝั่งตะวันตกของแผ่นน้ำแข็งที่แอนต๊ากติก แผ่นน้ำแข็งทั้งสองนี้จะไม่ละลายหายไปก่อนปี 2100 แต่เป็นที่เกรงกันว่าภาวะโลกร้อนจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียมวลของน้ำแข็งครั้งสำคัญที่กรีนแลนด์และฝั่งตะวันตกของแอนต๊ากติกที่จะนำไปสู่การละลายด้วยอัตราเร่งในศตวรรษหน้านี้
5. การระบาดของโรคร้ายต่างๆ
อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ขยายวงกว้างตามไปด้วย เช่น โรคมาเลเรีย ไข้เลือดออก ที่มียุงเป็นพาหะ โรคอุบัติใหม่ที่เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนโดยเฉพาะจากสัตว์ป่า ที่มีการอพยพย้ายถิ่นจากภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร และโรคในระบบทางเดินอาหาร
6. ฤดูใบไม้ผลิที่ผันแปร
อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฤดูการเพาะปลูกในหลายพื้นที่ทั่วโลก ฤดูใบไม้ผลิได้มาถึงก่อนกำหนดซึ่งหมายถึงการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์จะต้องเริ่มต้นเร็วขึ้นกว่าที่เคยเพื่อปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของแหล่งอาหาร ฤดูการเพาะปลูกที่ยาวนานมากขึ้น พืชจะมีความต้องการน้ำในการเติบโต หรืออาจแห้งตายถ้าขาดน้ำ ซึ่งจะเพิ่มการเสี่ยงจากไฟไหม้
7. การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ป่า
ภาวะโลกร้อนเพิ่มแรงกดดันต่อระบบนิเวศอย่างมากด้วยเช่นกัน ทั้งพืชและสัตว์ที่อาศัยพึ่งพาในระบบนิเวศจะมีความยากลำบากมากในการอยู่รอด ช่วงฤดูหนาวที่สั้นลงและอบอุ่นขึ้นจะไม่ทำให้แมลงหลายชนิดตายจากภาวะหนาวเย็นอย่างที่เคยเป็น ภาวะความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของแมลงที่จะทำลายระบบนิเวศจะเพิ่มมากขึ้น การที่ฤดูการเพาะปลูกขยายกว้างออกไป อุณหภูมิสูงสุดของแต่ละวันจะสูงขึ้นและอาจจะสูงเกินกว่าที่พืชและสัตว์จะทนได้ เพื่อให้อยู่รอดจากภาวะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งพืชและสัตว์ทะเลและบกได้เริ่มอพยพขึ้นไปทางเหนือ ทางขั้วโลก พืชและสัตว์ที่ไม่สามารถอพยพหรือปรับตัวจะต้องเผชิญกับภาวะการสูญพันธุ์ คณะกรรมการ IPCC ประมาณการว่า ร้อยละ 20-30 ของชนิดพืชและสัตว์จะเสี่ยงอการสูญพันธุ์ ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 1.5 ถึง 2.5 องศาเซลเซียส
8. ปะการังฟอกขาว
อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้ปะการังตาย จากการดูดซับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศเข้ามาสู่ทะเลสูงขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-ด่าง ทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ส่งผลต่อปริมาณของสัตว์ทะเลที่ต้องพึ่งพิงอาศัยปะการังในการอนุบาล
9. การเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน
พายุเฮอริเคนจะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่พื้นผิวทะเลสูงขึ้น ฝนที่ตกเพิ่มมากขึ้นจะมาพร้อมกับพายุฝนที่รุนแรงขึ้น และมีปริมาณฝนมากขึ้นแทนที่จะมีจำนวนวันที่มีฝนตกเพิ่มขึ้น
10. ความแห้งแล้งและไฟป่า
ความร้อนที่สูงขึ้นทำให้ความชื้นที่ผิวดินสูญเสีย จนเกิดความแห้งแล้งที่ผิวดินและเป็นสาเหตุของไฟป่า และจากฝีมือของมนุษย์ที่นิยมบริโภคของป่าเป็นแรงกดดันให้มีการหาของป่าและจุดไฟเผาป่า
อ้างอิงรูปภาพจาก : www.freepik.com, www.pexels.com