view 2007

การขนส่งและการจัดจำหน่ายที่เพิ่มภาระต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.ธนวันต์ สินธุนาวา

เมื่อเกิดการผลิตมีการแข่งขันกันเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีและกลวิธีในการผลิตก็มีการปรับปรุงเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการขยายตลาดการจำหน่าย และเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อเข้าสู่ภาวการณ์คุ้มทุนและภาวะที่มีกำไรสูงสุด ในภาวะเช่นนี้ ปริมาณการผลิตจะมีมากเกินความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งกลไกการตลาดจะต้องอาศัยการขนส่งที่รวดเร็ว มีการบรรจุหีบห่อที่เหมาะสม เพื่อสะดวกต่อการขนส่งและไม่เกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง และการจัดจำหน่ายที่ต้องมีการขนส่ง ทำให้มีการเพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาตรและน้ำหนักในการขนส่ง มีการใช้พาหนะขนาดใหญ่หรือเพิ่มเที่ยวขนส่ง และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น เป็นการเร่งรัดให้มีการปล่อยสารต่าง ๆ จากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงออกสู่สภาพแวดล้อม

นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ที่ถูกผลิตออกมาใช้ในขั้นตอนนี้ ยังต้องการการออกแบบและการผลิตที่สามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่การแข่งขันระบบตลาดได้ด้วย และโดยทั่วไปบรรจุภัณฑ์ที่ถูกนำมาใช้มีการใช้เพียงครั้งเดียว เมื่อผ่านการใช้ประโยชน์และผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้บริโภคแล้ว บรรจุภัณฑ์ก็จะกลายเป็นของเหลือทิ้งทันที และเป็นของเหลือทิ้งที่ต้องการการกำจัดอย่างเหมาะสม ขณะที่ผู้ใช้ในทุกขั้นตอนของการผลิตและการบริโภคต่างมีความเชื่อว่า ธรรมชาติจะมีความสามารถในการรองรับการถ่ายเทของเหลือทิ้งดังกล่าวได้ จึงได้ถ่ายเทลงทิ้งในน้ำบนดินด้วยการฝังกลบ และในอากาศด้วยการเผา เป็นการเพิ่มภาระให้แก่สิ่งแวดล้อมอย่างไม่รู้จบ และสร้างปัญหาต่อไปอย่างต่อเนื่อง


อ้างอิงรูปภาพจาก : www.freepik.com